Upskill เพื่อเข้าใจความแตกต่างของคน ลดความขัดแย้งในการทำงาน ด้วย DISC บทความดีๆ สำหรับโค้ชมืออาชีพ รวมถึงผู้ที่สนใจ หลักสูตรจัดฝึกอบรม เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร: โค้ชบี ขนิษฐา สถาบัน BE Management Coach
ยิ่งแตกต่าง…ยิ่งเติมเต็ม
ยิ่งหลากหลาย…ยิ่งท้าทาย
โค้ชบี ขนิษฐา…
“รู้เขารู้เรารบ…ร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
สุภาษิตที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งในโลกธุรกิจ และในการบริหารงาน
เคยมั้ยคะที่ทำไมกับคนบางคนเราคุยกันแล้วแป๊บเดียวก็รู้เรื่อง มองตาก็รู้ใจอะไรยังไงยังงั้น แต่กับบางคนเนี่ยคุยกันเท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง คงเหมือนกับที่ฝรั่งเค้าเรียกกันว่า “เคมีไม่ตรงกัน”
ถ้าเป็นคนอื่นทั่วไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นหัวหน้าลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกันอยู่เป็นประจำแล้วก็คงจะอึดอัด และลำบากใจไม่ใช่น้อยใช่มั้ยคะ
ดังนั้นมา Upskill เพิ่มทักษะจิตวิทยามนุษย์ Soft Side เข้าใจความแตกต่างของคน เพื่อลดความขัดแย้งในการทำงานกันค่ะ
มีเครื่องมือมากมาย ในการประเมินบุคลิกลักษณะ พฤติกรรมของบุคคลต่างๆ เครื่องมือหนึ่งที่เข้าใจได้ง่าย และ พัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว นั่นก็คือ D.I.S.C. ซึ่งเป็นบุคลิกลักษณะพฤติกรรมหลักๆ ของคนบนโลกนี้ 4 สไตล์ ซึ่งไม่มีแบบใดถูกผิด หรือดีกว่ากัน แต่มีจุดเด่นจุดต่างที่น่าสนใจ และเติมเต็มกันได้
ในปี พ.ศ. 2471 วิลเลี่ยม โมลตัน มาร์สตัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ตีพิมพ์บทความที่ชื่อ Emotions of Normal People (ลักษณะอารมณ์ของคนปกติ) คุณวิลเลียมแกมองว่าพฤติกรรม หรือการตอบสนองของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ สภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคล คือพูดง่าย ๆ ว่าการรับรู้ ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละคน โดยคุณวิลเลียมได้แบ่งพฤติกรรมมนุษย์ไว้คร่าว ๆ 4 แบบ
โดยในแต่ละแบบก็มีวิธีคิด วิธีทำ วิธีตอบสนองต่อเหตุการณ์แตกต่างกันออกไป โดยเรียกโมเดลนี้แบบย่อ ๆ ว่า D.I.S.C.
- Dominance
มองภาพใหญ่ ตรงไปตรงมา มั่นใจ เด็ดขาด แน่วแน่ กล้าเผชิญหน้า เน้นผลลัพธ์ ชอบจัดการกับปัญหา ชอบควบคุม ชอบแข่งขัน ชอบความท้าทาย มีเป้าหมาย ต้องการอำนาจ
- Influence
ร่าเริงแจ่มใส ช่างพูด ช่างเจรจา เข้ากับผู้คนได้ง่าย อารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี โน้มน้าวจูงใจคนอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนเองต้องการได้ดี
- Steadiness
สุขุม รอบคอบ ใจเย็น อดทน เป็นผู้ฟังที่ดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สุภาพ อ่อนน้อม ทำงานตามแบบแผน ให้ความร่วมมือกับกลุ่ม ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคง
- Compliance
เป็นผู้ที่รักความถูกต้อง สมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ พิธีรีตอง อิงกฎและมาตรฐาน มีวินัย ให้ความสำคัญกับรายละเอียดและข้อเท็จจริง ชอบการคิดวิเคราะห์ เน้นเหตุและผล ครุ่นคิด เก็บความรู้สึก
ในเกมหมากรุก กระดานหนึ่งๆ จะมีหมากหลายตัวให้เราเลือกเดิน และหมากแต่ละตัวก็มีศักยภาพในการเดินที่แตกต่างกัน เช่นม้า กับ เรือ ก็เดินไม่เหมือนกัน
ถ้าเราไม่รู้จักวิธีการเดิน ของหมากแต่ละตัว ก็ไม่มีทางไหนเลย ที่เราจะคว้าชัยชนะหรือความสำเร็จได้
หมากในเกมหมากรุก ก็เปรียบเสมือนพฤติกรรมของคนเราล่ะค่ะ เราจะเป็นผู้นำ วางแผนต่างๆ เราจำเป็นต้องรู้นิสัย วิธีการเดินของหมากทุกตัว ในกระดานหมากรุก
หากเรารับรู้สไตล์ที่แตกต่างของตัวเราเอง เพื่อนร่วมงาน ทีมงานแต่ละคน และวิธีการรับมือ หรือการวิธีการสื่อสาร การโน้มน้าวจูงใจ ที่มีประสิทธิผล ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันสะดวกราบรื่น ลดความขัดแย้ง เข้าใจกันมากขึ้น และท้ายที่สุด เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันของทีมและขององค์กร ให้บรรลุเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการนั่นเอง
ข่าวสารด้านการโค้ช
ในช่วงหลายปีมานี้ กระแสเรื่อง การโค้ช มาแรงมาก และยังคงแรงต่อเนื่องไม่หยุดโดยมีทั้งกระแสบวกและลบ คงไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจ ถึงความหมายและความแตกต่างของโค้ชแต่ละประเภท และคงไม่สามารถบอกได้ ว่าการโค้ชแบบไหนดีกว่าแบบไหน สำหรับคนแต่ละคน น่าจะขึ้นอยู่กับจริตของคนแต่ละคนเช่นกันค่ะ
ส่วนตัวบีเอง ได้ศึกษาศาสตร์ด้านการโค้ช มาจากหลายสถาบัน ทั้งไทยและต่างประเทศ สิ่งที่คิดว่าตรงกับจริตตัวเองที่สุด ก็คือ หลักการโค้ช แบบการใช้สมองเป็นฐาน หรือ Brain-based Coaching ที่พัฒนามาจากจิตวิทยาบวก และศาสตร์ด้านการทำงานของสมอง เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำ และความฉลาดทางอารมณ์ โดยเป็นหลักการ และมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก International Coaching Federation (ICF) หรือสหพันธ์การโค้ชนานาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา มากว่า 25 ปี
ICF เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และมีจุดมุ่งหมายหลักในการเผยแพร่ศาสตร์การโค้ช ให้เป็นที่รู้จักต่อสังคมในวงกว้าง เพราะเราเชื่อมันในประโยชน์ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากกระบวนการโค้ชแบบ Brain-based Coaching นี้ ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กรการศึกษา องค์กรธุรกิจ ไปจนถึงสังคมระดับประเทศชาติ
ท่านสามารถติดตามข่าวสารด้านการโค้ชของ ICF Bangkok Chapter ได้ทาง facebook แฟนเพจนะคะ และขอเชิญชวนให้ทุกท่านสมัครเป็นสมาชิกของ ICF เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และงานด้านการโค้ชในประเทศไทย ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไปด้วยค่ะ .. “เพราะการโค้ช ไม่ใช่เป็นเพียงทักษะวิชาชีพ แต่เป็นทักษะในการพัฒนาชีวิตและสังคม”
ที่ผ่านมาค่ะ